วันพุธที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2550

บทที่ 10 เมื่อบ้าน...เป็นโรงเรียนของลูก

ก่อนที่โรงเรียนบ้านแม่นก จะเกิดขึ้น ฉันได้เริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ เริ่มช่วยลูกชายโดยการปูทางไว้ก่อนคือ

_MG_0617.jpg

1. เตรียมบ้านให้พร้อม มีเนื้อที่กว้างพอที่จะทำกิจกรรมได้ไม่ลำบาก
2. สะสมความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น อบรมโดสะโฮ, อ่านหนังสือ, หรือเมื่อไปทำกายภาพที่ไหนๆ ก็จะเก็บข้อมูลไว้ในรูปวีดีโอ เพื่อให้กลับมาดูได้ และอบรมอีกหลายๆ เรื่องที่จะเป็นประโยชน์ กับโรคของลูก ฯลฯ
3. มีการพูดคุย เตรียมความพร้อม กับทุกๆ คนในบ้าน เพราะถ้าสมาชิกในบ้านคนใดคนหนึ่ง ไม่เห็นด้วย ก็ยากที่จะทำได้ โดยเฉพาะคู่ชีวิต
4. เตรียมตัวเองให้พร้อม และคิดเสมอว่า ทำอะไรก็แล้วแต่ อย่าให้ตัวเองเป็นทุกข์ เพราะโรงเรียนที่ฉันอยากสร้าง คือสิ่งที่ฉันดิ้นรน สรรหาเอง ดังนั้นจึงต้องเตรียมตัว เตรียมใจ พร้อมที่จะทำจริงๆ
5. สมาชิกมีความรู้พื้นฐานเหมือนกัน มีความคิดเดียวกันคือ ต้องการพึ่งตัวเอง และพร้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะนั่นมันจะทำให้ ความรู้ต่างๆ ที่เราพยายามสรรหามาให้ มีประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ผู้ให้ก็เต็มใจให้ ผู้รับก็มีความกระตือรือร้นที่จะรับ...เพื่อไปช่วยลูกของตัวเอง

IMG_4379.jpg

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ฉันเตรียมไว้ล่วงหน้ามาประมาณ 3-4 ปี ก่อนที่จะมาทำโรงเรียนเป็นจริงเป็นจัง...และแล้ว

วันที่ 25 มิ.ย. 2548 เป็นวันแรกที่เริ่มรวมตัวกัน 4 ครอบครัว โดยคนเริ่มแรกคือ “ครอบครัวลูกหิน” โดยมีเป้าหมายของฉันคือ
1. ลูกหินอายุ 5 ขวบแล้ว และถึงเวลาต้องไปโรงเรียน ... แต่ไม่มีที่ไหนรับเข้าโรงเรียนได้ เพราะด้วยความพิการหนัก ดังนั้น จึงคิดว่า บ้านคือโรงเรีนที่ดีที่สุดสำหรับลูก

2. ลูกหินโตขึ้นทุกวัน ดังนั้น การฝึกควรเพิ่มขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับอายุ เพราะโรคสมองพิการ อาการเกร็งจะเพิ่มตามตัวและวัย ดังนั้น ถ้าฝึกเท่าเดิม จะไม่เพียงพอกับลูกที่โตขึึ้น

IMG_4381.jpg

3. เราเป็นครอบครัวเดี่ยว การฝึกคนเดียวกับการฝึกรวมกลุ่ม ให้ผลไม่เท่ากัน ฝึกรวมเป็นกลุ่มจะได้ผลมากกว่า เพราะสิ่งแวดล้อมต่างๆ เป็นแรงส่งเสริม ผลักดันให้มีบรรยกาศน่าฝึกมากกว่า เหมือนเพื่อนชวนเพื่อนเรียนหนังสือ

4. อยากให้อุปกรณ์ของลูก มีประโยชน์กับเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย เพราะอุปกรณ์แต่ละชนิดก็ราคาแพงไม่ใช่เล่น อย่างเช่น ทิ้วฝึกยืน เมื่อปี 2546 ซื้อ มา 18,000.- ปัจจุบันคงขึ้นราคาไปเยอะแล้ว จะได้คุ้มกับเงินที่ซื้อมา

5. อยากให้ลูกหินและเพื่อนของลูก มีพัฒนาการไปให้ไกลที่สุด ตราบที่ฉันยังมีลมหายใจอยู่... ไม่รู้ว่าใครจะจากไปก่อน...ถ้าลูกจากไปก่อน...ฉันก็อาจเสียใจ แต่มันก็ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นที่เราต้องทำใจ...แต่ถ้าฉันจากไปก่อนลูก...นี่ซิปัญหาใหญ่ ดังนั้นการเริ่มสร้างโรงเรียน เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เท่านั้น แต่สิ่งที่คิดในใจมันเรื่องใหญ่กว่านั้นคือ จะทำยังไงถ้าวันหนึ่งที่ฉันต้องจากไป ...ลูกหินยังคงมีความสุขเหมือนเดิม

มันน่าจะมีสถานที่สักแห่ง รองรองอนาคตของลูกได้ เมื่อเราไม่อยู่แล้ว ?

6. อยากให้น้าจิตร และเพื่อนๆ ได้รับความสุขจากการฝึกทุกครั้ง เพราะเชื่อว่า ความสุขของลูก จะเกิดขึ้นได้ พ่อแม่ ต้องมีความสุขก่อน ดังนั้น โรงเรียนที่บ้าน นอกจากจะฝึกลูกแล้ว โปรแกรมที่คิดไว้ ต้องช่วยตัวพ่อแม่ ด้วย...เด็กจึงจะมั่นคง

IMG_4377.jpg

เมื่อเรารวมตัวกันแล้ว ก็นัดกันมาพบที่บ้านแม่นก โดยวันแรกจะไม่มีการฝึก แต่เราจะทำความเข้าใจ โดยการสร้างกฏกติกา ในการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เราใช้เวลาคุยกัน ถึงเวลา 16.00 น. โดยครูลักษณ์ (ครูอาสา การศึกษาเด็กพิเศษ) ได้สรุปประเด็นในการฝึกดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องวันเวลาการฝึก
1 เดือน ฝึก 4 วัน ทุกวันศุกร์
ตั้งแต่เวลา 10.00น. - 14.00 น. รวม 4 ชม.
อาจจะมีบางเสาร์ ...มีการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการให้ความใหม่ๆ

แต่ปัจจุบันพัฒนาเป็น
1 เดือน ฝึก 8 วัน ทุกวันพฤหัส-ศุกร์
ตั้งแต่เวลา 9.30-14.30 น.

ด้วยเหตุผลคือ...เด็กๆ โตขึ้น...การฝึกจึงต้องมากขึ้นตามวัย

ประเด็นที่ 2 เรื่องโปรแกรมการฝึก
เริ่มแรก เราจะแบ่งโปรแกรมออกเป็น 3 หมวดวิชา
• วิชาบังคับ หมายถึง เด็กๆ ทุกคน จะต้องถูกฝึกทุกคน ไม่ว่าจะเล็ก จะใหญ่ พิการมาก พิการน้อย ก็ต้องฝึก ได้แก่ โดสะโฮ (ศาสตร์การบำบัดจากประเทศญี่ปุ่น) ฝึกยืน, นวดไทย กายภาพ เป็นต้น สาเหตุที่เด็กทุกคนต้องทำเพราะ โรคสมองพิการจะมีการเกร็งติดตัวทุกคน จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับสมองที่เสียหาย ดังนั้น เด็กไม่สามารถคลายกล้ามเนื้อได้ด้วยตัวเอง...จนสำคัญและจำเป็นมากที่ต้องช่วยให้เด็กได้ผ่อนคลายส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ซึ่งทุกๆ คน จะได้รับการอบรมมาจากมูลนิธิเพื่อเด็กพิการอยู่แล้ว

• วิชาสังคม ได้แก่ การฝึกการทานข้าว ฝึกให้รู้จักชื่อของตัวเอง ชื่อของเพื่อนๆ และกิจกรรมการเล่นที่รวมกัน เพราะเราต้องสร้างสังคมให้รู้ว่า เราไม่สามารถอยู่ได้คนเดียวในโลก และสังคมภายนอก เด็กของเราไม่มีที่อยู่...ดังนั้น ฉันและแม่ๆ ทุกคน...จึงรวมกันสร้างสังคมให้ลูก เพราะอย่างน้อย...เมื่อถึงเวลามาฝึก...เค้าสามารถรับรู้และโต้ตอบกันได้เอง

IMG_4370.jpg

• วิชาแก้ไขเฉพาะส่วนตัว ซึ่งตรงนี้ ถ้าเราไม่เปิดโรงเรียน ก็ไม่สามารถหาโอกาสนี้ได้ เพราะเด็ก แม้พิการสมองเหมือนกัน แต่อาการเกร็งจะแตกต่างกัน...ดังนั้น การแก้ไขเฉพาะตัว จึงสำคัญมาก สามารถช่วยได้ตรงจุดที่บกพร่องได้เลย เช่น ปัจจุบัน ลูกหินคอชอบเอียงซ้าย ดังนั้น การกายภาพ หรือการโดสะโฮ เราก็จะโฟกัสแก้ไขปัญหาคอเอียงซ้าย ให้กลับมาตรง เป็นต้น หรือน้องชมพู่ เกร็งขาจิก ก็ได้ท่ากายภาพให้ผ่อนคลายเรื่องกล้ามเนื้อขา เป็นต้น

ดังนั้น การรวมกลุ่ม เป็นโรงเรียน ทำให้สร้างโอกาสที่เราไม่สามารถหาที่ไหนได้....อยากได้อะไร เราก็จะปรึกษาหารือกัน และขอความช่วยเหลือจากรพ. จากหมอ จากมูลนิธิ เป็นต้น

แต่ปัจจุบัน เรามีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

IMG_4358.jpg

3 ธ.ค. 49 มีการสรุปผลการฝึกที่บ้าน สิ่งที่เราฝึกลูกกันมาตลอด 1 ปีเต็มเป็นอย่างไร เพื่อจะได้ไปปรับปรุงใน ปีต่อไปให้ดียิ่งขึ้นและวันนั้น เรามีสมาชิกใหม่ 2 คน ที่ยังไม่คอยได้รับโปรแกรมฝึกเฉพาะตัวเอง มาก่อน
ได้ประเด็นสำคัญว่า...เด็กทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ต้องได้รับการเรียนรู้ทักษะ 6 ด้านคือ
1. เรียนรู้เรื่อง กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การพลิกคว่ำ พลิกหงาย นั่ง ยืน เดิน เป็นต้น
2. เรียนรู้เรื่อง กล้ามเนื้อมัดย่อย เช่น การรู้จักใช้นิ้วมือ หยิบจับสิ่งของ เป็นต้น
3. เรียนรู้เรื่อง กิจวัตรประจำวัน เช่น ใส่เสื้อผ้าเอง แปรงฟันเอง เป็นต้น
4. เรียนรู้เรื่อง การสื่อสาร เช่น การพูดคุย โต้ตอบ เป็นต้น
5. เรียนรู้เรื่อง อารมณ์ สังคม เช่น รู้จักการเล่น รู้จัก ให้ เป็นต้น
6. เรียนรู้เรื่อง วิชาการ เช่น รู้เรื่องธรรมชาติใกล้ๆ ตัวเรา เป็นต้น

IMG_4366.jpg

ฉันถามครูลักษณ์ว่าเรื่องวิชาการเด็กพิการก็ต้องรู้ด้วยหรอ เพราะเหมือนมันเป็นเรื่องไกลตัว รู้ไปก็พิการ ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่ดี
ครูลักษณ์ไม่ตอบ...และเล่าเรื่องหนึ่งที่เคยประสบมาว่า เคยทดสอบเด็กสถานสงเคราะห์...แล้วถามว่า ปลาอยู่ในไหน..เด็กๆ ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า...ปลาอยู่ในกระป๋อง อะไรน่ะ ปลาอยู่ในกระป๋อง... (พวกเรา ฮา กันทันที ไม่นึกว่าเรื่องง่ายๆ เด็กจะตอบไม่ได้ถ้าไม่ได้รับการสอน)นี่เพราะเด็กไม่เคยได้รับความรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วปลาอยู่ในน้ำ เห็นอีกทีก็อยู่แต่ในกระป๋อง ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องทักษะที่ 6 สำคัญและเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ที่เราไม่ควรมองข้าม

ซึ่ิงสิ่งเหล่านี้ แม้เป็นเด็กพิการทางสมองก็ไม่แตกต่าง ก็ต้องเรียนรู้ แต่การเรียนอาจจะแตกต่างกัน เช่น
1. เรียนรู้เรื่อง กล้ามเนื้อมัดใหญ่ เราก็เปลี่ยนเป็นการทำกายภาพ นวดไทย เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อมัดใหญ่แทน
2. เรียนรู้เรื่อง กล้ามเนื้อมัดย่อย ก็เช่นกัน เราก็สอนให้หยิบจับของชิ้นเล็กๆ เช่น ปากกา ดินสอ สัมผัสสิ่งของที่แตกต่างกัน เป็นต้น
3. เรียนรู้เรื่อง กิจวัตรประจำวัน ก็เปลี่ยนเป็นให้รู้จักว่า ให้จับช้อน แล้วเอาช้อนตักข้าว แล้วกว่าจะเข้าปาก มันยากขนาดไหน กว่า เด็กจะสามารถตัก และเข้าปากตัวเองได้ มันมีการเดินทางมาอย่างไร เป็นต้น

IMG_4384.jpg

4. เรียนรู้เรื่อง การสื่อสาร ของเด็กพิการ บางทีอาจไม่ใช่การพูด เพราะการสื่อสารไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องพูด เช่น แม่บอกว่าถ้าใครรู้ตัวว่าชื่อลูกหิน ให้กระดุกกระดิกตัวด้วย...ลูกหินก็ทำตามหลังจากเรียกชื่อ นี่ก็คิอการสื่อสารของลูกหิน เป็นต้น
5. เรียนรู้เรื่อง อารมณ์ สังคม ในกิจกรรมที่บ้านก็จะมีการเล่นด้วยกัน ให้รู้ว่าวันนี้จะมาฝึก เพื่อนๆ ลูกหิน เช่น น้องชมพู่ พอรู้ว่าวันจะมาฝึกที่บ้านก็ดีใจ ให้แม่ได้เห็น นั่นแสดงว่า เด็กรับรู้ว่า เค้ารู้จักสังคมของเค้าที่ แม่ๆ พยายาม สร้างให้เค้า
6. เรียนรู้เรื่อง วิชาการ ของเด็กพิการก็คือ รู้ร้อน รู้เย็น รู้จักการคอย เป็นต้น ซึ่งคิดว่าปีหน้า ที่บ้านเราจะเริ่มเน้นกิจกรรมทักษะที่ 6 เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เด็ก ได้เรียนรู้มากที่สุด เท่าที่พวกเค้าจะทำได้...แต่ที่สำคัญ เราจะไม่คาดหวังกับผล...เด็ดขาด เพราะทำจะทำให้พวกเราขาดกำลังใจเมื่อไปไม่ถึงเป้าหมายสักที

_MG_0614.jpg

คิดแค่นี้ ฉันรู้สึก เป็นสุขในใจ...จัง
สมาชิกในบ้านคนหนึึ่ง เป็นเด็กใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับโปรแกรมจากครูลักษณ์ด.ญ อายุ 9 ขวบ รูปร่างโต สูง ใหญ่ ผิวขาว ตาโต ดูหน้าตาแจ่มใส เธอพิการเพราะหมอไม่รู้ว่าแม่มีน้องแฝดผ่าคนแรกคลอดปกติ อาการครบ 32 ทุกประการ แต่คนที่ 2 กว่าหมอจะรู้ว่ามีอีกเด็กอีกคน ติดอยู่ในท้อง ก็เกือบสายไปแล้ว...ทำให้ขาดออกซิเจนไปชั่วขณะ...เธอเลยกลายเป็นเด็กพิการทางสมองไปโดยปริยาย

IMG_4397.jpg

แฝดพี่ แฝดน้อง ตั้งแต่เล็กจนโต เธอถูกเลี้ยงดูเหมือน นกน้อยในกรงทอง...ไม่สามารถออกไปไหนได้ ห้ามเที่ยว ห้ามเล่น ห้ามทำ ห้าม ห้าม ห้ามสารพัดที่ถูกห้าม .... สีโปรดของเด็กทั้งสอง คือ สีดำ เด็กมองเห็นแต่ความดำ สีดำอยู่ในสมองเสื้อผ้าสีดำ กิ๊ปสีดำ เวลาระบายสี ก็เริ่มจากสีดำ ขนาดขนม เธอยังเลือกกิน แต่เฉาก้วยและสิ่งที่ทำให้ฉันตกใจคือ อาหาร 3 มื้อ กินซ้ำกันตั้งแต่เกิดทุกมื้อ คีือไข่ กับกล้วย
เมื่อวันก่อน...แฝดพี่...มาเป็นเพื่อนแฝดน้อง ทำกิจกรรมด้วย ที่บ้าน...ลูกหินกำลังจะอึ...น้าจิตรใช้ให้แฝดพี่ ไปหยิบกระโถนเธอ รีบกุลีกุจอ เดินไปห้องน้ำ แล้วหยิบกระโถนมาให้น้าจิตร
ทุกคนในบ้านมองหน้ากัน ต่างตกใจ...เพราะสิ่งที่ได้ในมือ กลับเป็นกะละมัง
เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ไม่รู้จัก กระโถน และนี่คือผลของการไม่ได้เรียนรู้ทักษะข้อที่ 6

IMG_4392.jpg

ประเด็นที่ 3 เรื่องค่าใช้จ่ายๆ ที่เกิดขึ้น
ค่าอาหาร : ต่างคนต่างออกกันเอง คนละ 20-30 บาทต่อมื้อ ส่วนอาหารของเด็กก็เตรียมมากันเอง แต่จะไม่มีการหุงหาอาหารที่บ้าน เพราะเป้าหมายของเราคือการฝึก ถ้ามาทำกับข้าวก็จะใช้เวลาผิดวัตถุประสงค์ไป
ค่ารถ : เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะเราต้องยอมรับว่า พ่อแม่เด็กพิการในกลุ่มส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ดังนั้น การขึ้นรถโดยสารประจำทาง พร้อมกับแบกลูกขึ้นหลัง เป็นความเสี่ยงเพราะนอกจากจะต้องจับราวแล้ว ยังต้องประคองลูกไม่ให้ตกลงจากอ้อมอกอีก แถมสายตาของผู้คนมองด้วยความสงสัย จึงไม่ควรมองข้ามเรื่องการเดินทาง

IMG_4398.jpg

...วิธีแก้ปัญหา คือ เราเลือกชวนเพื่อนๆ ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ไม่ไกลมากนัก เพื่อตัดปัญหาเหล่านี้ไป เพราะถึงแม้มีการจัดอบรม ต่อให้ดีและมีประโยชน์มากอย่างไร ถ้าไม่แก้ปัญหาเรื่องการเดินทาง พวกเค้าก็ไม่สามารถมาร่วมการอบรมได้อย่างแน่นอน

IMG_4393.jpg

หรือบางทีได้ทุน เช่น ทุน สสส. ฉันจะเจียดเงินบางส่วน ให้เป็นค่าเดินทางที่จำเป็นจริงๆ ให้ผู้ปกครอง เพราะไม่อยากให้พ่อๆ แม่ ๆ ควักเนื้อตัวเอง...แต่ก็ระวังไม่ให้ผิดเป้าหมาย มาเพื่อมารับเงินค่ารถ เป็นต้น

IMG_4399.jpg

ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ : ...ปกติที่บ้านก็จ่ายอยู่แล้ว..เพียงแต่อาจจ่ายเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่ประโยชน์ที่ได้คุ้ม เพียงแต่ฉันต้องพูดในที่ประชุมรับทราบว่า ฉันยินดีที่จะจ่ายส่วนนี้เอง เพียงแต่ให้แม่ๆ ช่วยกันใช้อย่างประหยัด...แค่นี้ก็เท่ากับได้ทำบุญได้
อุปกรณ์การฝึก : อุปกรณ์ต่าง เป็นของที่เก็บสะสมไว้ ตั้งแต่พาลูกหินมาอยู่กรุงเทพฯ ใหม่ๆ พอรู้ว่าอนาคตจะเปิดศูนย์ที่บ้านเป็นโรงเรียน ฉันก็สะสมไว้ใช้ในอนาคต แต่อุปกรณ์ที่สำคัญของเด็กสมองพิการคือ เบาะปู ทำกิจกรรม นุ่มไปฝึกกิจกรรมก็ไม่ดี แข็งไป เด็กนอนเจ็บ พืนใหญ่ไป การเก็บก็ลำบาก พืนเล็กไป ก็ไม่พอกับเด็กๆ นั่งทำกิจกรรม
ต้องยอมรับว่า เบาะปูพื้นสำคัญสำหรับการฝึกมาก เพราะเด็กส่วนใหญ่ จะอยู่ในท่านอนมากกว่าท่านั่ง เนื่องจากพิการเยอะ การนั่งด้วยตัวเองยังไม่ค่อยได้ ดังนั้นไม่ควรนิ่ม หรือแข็งเกินไป และที่สำคัญ ต้องทำความสะอาดง่ายด้วย เพราะน้ำลาย น้ำมูก...มีทุกครั้งหลังจัดกิจกรรม

IMG_4389.jpg

โชคดีที่มูลนิธิเพื่อเด็กพิการอนุเคราะห์ เบาะหรือแม็ดปูที่มาจากประเทศญี่ปุ่น เป็นรูปตัวต่อเหมือนจิกซอ ขนาดกว้าง เมตร X เมตร ไม่นุ่มไม่แข็งจนเกินไป...เหมาะสำหรับการทำกิจกรรม หลังทำกิจกรรมทุกครั้งเราต้องเอามาซักล้างเพื่อให้สะอาดอยู่เสมอ

ราคาไม่เบา 8 แผ่น 6,000 บาท ใช้ได้ดี เพราะใช้ได้จนเราแก่ยังไม่พังเลย แต่ต้องซื้อที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านี้ ที่นี่ไม่มีขาย

IMG_4386.jpg

ตัวอย่างกิจกรรมที่บ้าน 1 วัน

10.00-10.20 น.
- ร้องเพลงสวัสดีทักทายเด็กๆ
ด้วยเพลง
ลูกหินอยู้ไหน ลูกหินอยู้ไหน อยู่นี่จ๊ะ อยู่นี่จ๊ะ สุขสบายดีหรือ สุขบายดีหรือไร ไปก่อนล่ะ สวัสดี...แล้วก็จะให้ทุกคนเรียกชื่อลูกหิน ให้เค้ารู้ว่าตัวเองชื่ออะไร...หลังจากนั้น ต้องให้ลูกหินแสดงตัวเอง เช่น ยกหัว ยิ้ม หรือกระดิกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เราถือว่าลูกรู้ตัวแล้ว ก็จะปรบมือ จากนั้น ก็จะเรียกชื่อเด็กคนอื่นๆ ต่อจนครบคน

- กิจกรรมต่อไปเป็นการเล่น โดยนั่งรวมกันเป็นวงกลม แล้วให้เด็กเขี่ยบอล (ลักษณะบอลที่บ้าน กลิ้งจะมีเสียงด้วย) โดยให้เด็กบอกว่าจะเขี่ยให้ใคร เช่น น้องชมพู่...เขี่ยบอลให้น้องแพรว เป็นต้น

10.20-11.00 น.
- ฝึกกายภาพ ที่เฉพาะของแต่ละบุคคล
- ฝึกกลิ้งตัว เพื่อป้องกันเสมหะที่มาเกาะพันคอ
- ฝึกยืน เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนในอนาคต
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาฝึกหนักของเด็ก ทุกคนจะได้รับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อด้วยวิธีต่างๆ โดยทำรวมกันเป็นกลุ่ม

IMG_4478.jpg

11.00-12.00 น.
- ฝึกนวดไทย เพราะหลังจากทุกคนฝึกหนัก เด็ก ๆ ต้องได้รับการผ่อนคลายด้วยการนวดที่เหมาะสมกับลูก ซึ่งแม่ๆ ทุกคนจะมีความรู้พื้นฐานอยู่แล้ว
- กิจกรรมเล่านิทาน เป็นกิจกรรมที่เราจะสอนเด็กรวมกัน เช่น เล่าเรืื่องราวสีแดง แม่ๆ จะนัดกันใส่เสื้อสีแดงให้รู้ว่าวันนี้สีแดง นิทานก็จะเกี่ยวโยงกับสีแดง เช่น แตงโม ข้างใน สีแดง เป็นต้น

12.00- 13.30 น.
- ช่วงนี้เป็นช่วงรับประทานอาหาร แต่เด็กๆ ก็ต้องฝึกด้วย ฝึกว่า การที่ข้าวจะเข้าปากมาจากไหน มาจาก มือต้องจับช้อน แล้้วเอาช้อนตักข้าว แล้วบังคับแขนให้ เอาข้าวใส่ปาก...คนปกติอาจจะง่าย แต่เด็กๆ เหล่านั้นกว่าจะได้แต่ละคำ ยากเย็นเข็ญใจมาก หรือเด็กบางคนอย่างน้องชมพู่ อดีตก่อนจะมาฝึกที่นี่ การกินข้าวยังนอนกินอยู่ ซึ่งเสี่ยงต่อการสำลักมาก แต่ที่นี่จะพยายามกระตุ้นให้เด็กนั่งกิน แต่ถ้านั่งกินได้แล้ว ก็จะพยายามต่อให้รู้จักตักกินเอง ซึ่งพวกนี้เราใช้เวลาฝึก เป็นปี ๆ กว่าจะได้

ดังนั้นช่วงเวลานี้จึงนาน เพราะกว่าจะป้อนเด็กเสร็จ กว่าจะกินของตัวเอง

13.30-14.00 น.
-เป็นช่วงที่ฉันให้ความสำคัญกับพ่อแม่ โดยการนอนทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ แรกเริ่มเดิมที....ให้ผ่อนคลายกันโดยการนวด แต่เนื่องจากปู่พลอย เป็นผู้ชายคนเดียวในกลุ่ม ทำให้การนวดไม่เป็นผลสำเร็จ ทุกคนไม่ยอมทำ แต่กลับเอาเวลานั้น ไปฝึกลูกของตัวเองต่อ จึงทำให้คิดใหม่ ปกติ ฉันต้องไปทำงาน จะจัดตารางสอนให้พ่อๆ แม่ ทำกันเองที่บ้าน โดยถ่ายวิดีโอเอาไว้ให้ดู...พอตอนเย็นก็จะเปิดวิดีโอดู ทำให้ได้รู้ และแก้ปัญหาได้..

ดังนั้นจึงคิดว่า การนอนหลับบ้าง ไม่หลับบ้าง โดยเปิดเพลงบรรเลงเบาๆ ไปด้วย ก็ทำให้ร่างกายแม่ๆ ได้พักโดยปริยาย

14.00-14.20 น.
- ฝึกโดสะโฮ ศาสตร์ที่ได้รับการอบรมมาอย่างถูกวิธี กิจกรรมที่บ้าน ครูลักษณ์สอนว่า กิจกรรมควรสลับหนัก แล้ว เบา แล้วหนัก จะดีที่สุด

14.20-14.30 น.
สรุปปิดประชุม ที่นี่พ่อๆ แม่ๆ ทุกคนจะเวียนกันเป็นหัวหน้า สลับกันไป เพื่อฝึกให้เป็นผู้นำกลุ่มได้ และที่สำคัญ ที่นี่จะตรงเวลามาก เพราะฉันได้นำเคล็ดลับดีๆ ในค่ายโดสะโฮมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรม

IMG_4487.jpg

ก่อนกลับบ้านเด็กจะจำได้เสมอ เมื่อเราร้องเพลงนี้
ลาไปก่อนแล้วน่ะคนดี...ได้เวลาต้องลา...จากกันไปในวันนี้หนา...
ขออำลา...สวัสดี....สวัสดีค่ะ

ครั้งหนึ่งเมื่อเราร้องเพลงนี้จบ แม่ชมพู่ ติดภาระกิจที่ต้องช่วยเก็บกวาดเป็นเวลานานพอสมควร...เชื่อมะ น้องชมพู่ส่งเสียงโวยวาย...เหมือนจะบอกว่ากลับได้แล้วกิจกรรมเสร็จแล้ว หรือแม้แต่ตอนเช้าที่รู้ว่าจะต้องมาบ้านแม่นก พอรู้ว่าจะไปทำกิจกรรม ชมพู่ ย้ิม และเกรงขานรับอย่างขมักเขม้น...เป็นต้น
กิจกรรมต่างก็จะเปลี่ยนไป แต่แกนความคิด จะไม่เปลี่ยนตาม

IMG_4382.jpg

เกร็ดความรู้จากการฝึก ในการป้องกันโรค

1. กระดูกจะแข็งแรง ก็ต่อเมื่อเรายืนให้ตรงเต็มฝ่าบาท...เด็กพิการทางสมองโตขึ้นมีโรคกระดูกเปราะบางตามมาอย่างแน่นอนเพราะไม่สามารถยืน...จึงทำให้กระดูดเปราะบางไปโดยปริยาย...วิธีแก้ไข...ต้องให้เด็กยืนบนทิว (ลักษณะทิวคือการบังคับให้เด็กยืนอย่างถูกวิธี) เพื่อป้องกันโรคอนาคต

2. เสมหะ..เป็นของคู่กันกับโรคสมองพิการเสมอ
วิธีแก้ไขมี 2 วิธี
• ป้องกัน เชิงรุกปัญหา โดยใช้กิจกรรม การกลิ้งตัว การนอนคว่ำชันคอ จะทำให้ปอดเด็กแข็งแรง เมื่อปอดแข็งแรง ร่างกายได้ขยับตัว เสมหะจะลดลงเอง
• ป้องกัน เชิงรับปัญหา โดยใชัเครื่องดูดเสมหะ ซึ่งการดูดเสมหะที่มีประสิทธิภาพ ต้องมี 3 ขั้นตอน คือ 1 พ่นยา เพื่อให้เสมหะไม่เหนียวข้น 2. เคาะปอดให้ครบทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 5 นาที 3. ดูดเสมหะ ....ทำ 3 ขั้นตอนให้ครบแล้วจะทำให้ปอดเคลียร์ ...ลูกหายใจสบาย

3. สาเหตุของการเจาะคอเด็กมาจาก
• กล้ามเนื้อคออ่อน
• ปอดติดเชื้อบ่อย เนื่องจากเสมหะเยอะ หรือสำลักข้าว เป็นต้น
การกายภาพ : แค่ให้นอนคว่ำกับหมอนข้าง แล้วฝึกชันคอ สามารถป้องกันได้ทั้ง 2 สาเหตุ...(ลูกหินเคยมาถึงจุดนี้แล้ว)

4. การฝึกลูกบอล ในการทำกายภาพ ทำให้เด็กมีพัฒนาเร็วกว่าการฝึกภายภาพทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น: